'บสย.'หนุน 'กิมซุนหมูปิ้ง' บุกตลาด CLMV

นาทีนี้ในตลาด "หมูปิ้ง" ในเมืองไทย คงไม่มีใครไม่รู้จักแบรนด์ "กิมซุนหมูปิ้ง ไทยแลนด์" ที่กำลังผลิตวันละกว่า 2 ตัน ส...


นาทีนี้ในตลาด "หมูปิ้ง" ในเมืองไทย คงไม่มีใครไม่รู้จักแบรนด์ "กิมซุนหมูปิ้ง ไทยแลนด์" ที่กำลังผลิตวันละกว่า 2 ตัน สร้างรายได้ปีละกว่าร้อยล้านบาท

'เฮียตี๋ -นายปรีชา คล่องจิตร์' เจ้าของธุรกิจหมูปิ้งชื่อดัง เล่าย้อนความหลังว่า วันนี้ขายหมูปิ้งโนเนมรายเล็กๆ อยู่ที่ตลาดนัดวัดพิกุล จ.นครนายก วันแรกต้องยอมขาย 1 ไม้ แถม 1 ไม้ เพราะตอนนั้นมีหมูปิ้งนมสดขายอยู่แล้วถึง 5 เจ้า แต่ตัวเองเป็นหน้าใหม่ในตลาด ลูกค้าไม่คุ้นหน้าจึงไม่เลือกซื้อ จนต้องใช้ทั้งวิธีลดแลกแจกแถมก็เริ่มมีลูกค้าประจำเพิ่มขึ้น ก่อนขยายไปตลาดนัดอื่น


จากเดิมที่ขายได้วันละ 1 กล่อง จำนวน 100 ไม้ เพิ่มเป็น 100 กล่อง 1,000 ไม้ รวมถึงพัฒนาสูตรอย่างสร้างสรรค์ตลอดเวลา ขณะนี้มีหมูปิ้งถึง 20 รสชาติ เช่น รสนมสด รสกะเพรา รสพริกเผา รสเขียวหวาน รสพะแนง และรสชาเขียว เป็นต้น ซี่งช่วยเพิ่มทางเลือกหลากหลาย กลายเป็นจุดเด่นโดนใจลูกค้ามากขึ้น



เมื่อธุรกิจไปได้สวยทำให้ต้องขยับขยายลงทุนสร้างโรงงาน อาศัยสินเชื่อจากสถาบันการเงินจำนวน1ล้านบาท โดยมี บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.) ทำหน้าที่ค้ำประกัน ซึ่งเงินทุนดังกล่าว ยังนำไปเพิ่มคนงานสำหรับเสียบหมูอีก 20 คน เพื่อให้ทันกับออร์เดอร์ของลูกค้าที่มารับไปวางขายตามที่ต่าง ๆ โดย 20% เป็นลูกค้าในพื้นที่ จ.นครนายก และ 80%เป็นลูกค้าในพื้นที่อื่นๆ เช่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด สุรินทร์ มหาสารคาม ตาก สุโขทัย รวมถึงจังหวัดทางภาคตะวันออก ทำให้มียอดขายโตก้าวกระโดดเป็น 60 ล้านบาท



ล่าสุดเมื่อปลายปี 2559 ที่ผ่านมาได้เพิ่มสินค้าใหม่ คือ ไส้กรอกอีสาน และลูกชิ้นปลา จึงต้องเพิ่มกำลังผลิต โดยได้ใช้บริการ บสย.ค้ำประกันสินเชื่อเป็นสัญญาที่ 2 เป็นจำนวนเงิน 4 ล้านบาท ช่วยให้กิจการที่กำลังเติบโตสามารถขยายไปได้อย่างต่อเนื่อง

เจ้าของธุรกิจหมูปิ้งแบรนด์ดัง เปิดเผยด้วยว่า ที่ผ่านมาเราเติบโตปีละไม่ต่ำกว่า 30-40% และในปีนี้ (2560) มีแผนจะขยายไปยังพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเน้นแผนจุดขายทั่วถึง สามารถหาซื้อได้ง่าย ชูจุดเด่นหมูปิ้งไซส์ใหญ่จัมโบ้ และจะตั้งเป็นศูนย์กระจายหมูปิ้งให้แก่ตัวแทนมารับไปขาย รวมทั้งจะขยายสู่ตลาดประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น โดยที่ผ่านมามีลูกค้าเริ่มนำหมูปิ้งไปวางจำหน่ายยัง สปป.ลาว ครั้งละ 200 กล่องเพื่อไปทดลองขาย พบว่าเป็นที่นิยมและได้รับการตอบรับดี



ส่วนของสินค้าใหม่ คือ' ไส้กรอกอีสาน' เริ่มทดลองขายแล้วเมื่อปลายปี 2559 ที่ผ่านมาได้ไอเดียมาจากลูกค้าที่แนะนำสินค้าอื่นที่เหมาะกับบรรยากาศช่วงเย็น จึงเห็นโอกาสของ 'ไส้กรอกอีสาน ' เมนูปิ้งเหมือนกัน อีกทั้งยังใช้เครื่องบดผสมชนิดเดียวกันกับหมูปิ้ง ทำให้ชั่วโมงการทำงานของเครื่องจักร ซึ่งจะใช้ผสมหมูเฉพาะช่วงเช้าเท่านั้นได้ทำงานอย่างเต็มกำลังมากขึ้น โดยตั้งราคาขายส่งที่ 65 บาท /กิโลกรัม ลูกค้ามารับไปขายตามตลาดนัด และหน้าโรงงานต่างๆ เพื่อจับกลุ่มลูกค้าหนุ่มสาวโรงงาน โดยผู้ขายสามารถขายหมูปิ้งในตอนเช้า และกลับไปขายไส้กรอกอีสานในตอนเย็น มีรายได้สองต่อโดยไม่ต้องลงทุนเครื่องมือเพิ่ม


“จากที่ บสย.ซึ่งเข้ามาช่วยค้ำประกัน ช่วยทำให้การขยายธุรกิจของเราเดินหน้าไปได้ โดยไม่สะดุด ผลักดันให้ปีที่ผ่านมา (2559) ยอดขายของ'กิมซุนหมูปิ้ง ไทยแลนด์'มากกว่า 100 ล้านบาท อีกทั้งยังสามารถเปิดแฟรนไชส์เพิ่มอีกแบรนด์ คือ 'ซ้อหลิน ก๋วยเตี๋ยว ลูกชิ้นเนื้อปลาแท้ นครนายก' สามารถใช้เครื่องลิตลูกชิ้นอีกด้วย” นายปรีชา กล่าว

นับว่าเป็นอีกต้นแบบเอสเอ็มอีพันธุ์แกร่ง ที่เริ่มต้นจากการเป็นผู้ประกอบการขนาดจิ๋ว มุ่งมั่นพยายามพัฒนาสร้างความเข้มแข็งให้ตนเอง จนธุรกิจเติบโต ทำยอดขายได้ถึงหลักร้อยล้านต่อปี ทั้งหมดเกิดขึ้นภายในเวลาเพียง 5 ปี เท่านั้น





From: https://www.dailynews.co.th/economic/586417




You Might Also Like

0 comments

Flickr Images